วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประสบการณ์สุนทรียะกับความเป็นจริง...

ประสบการณ์สุนทรียะกับความเป็นจริง
ประสบการณ์สุนทรียะเป็นการรับรู้ที่ไม่หวังผล ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงแต่อย่าใด เช่น เราหิวจริง ๆ เมื่อกินอาหารจานใดก็รู้สึกอร่อยไปหมด รสอร่อยไม่ถือว่าเป็นประสบการณ์สุนทรียะ เพราะเป็นการตอบสนองความหิวของเรา ถ้าเราแยกความหิวที่เป็นความรู้สึกจริงออกได้ กินอาหารจานนั้นแล้วรู้สึกว่ามีรสอร่อยอาจเพียงคำเดียว หรือสองสามคำก็พอ เรียกได้ว่า เราหาประสบการณ์สุนทรียะสำหรับความสุขของเราได้แล้ว
เช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์ชีวิต รู้สึกกินใจ ซึ้งใจในการแสดงของดารา ถือว่าเราหาประสบการณ์สุนทรียะให้แก่ตัวเรา และภาพยนตร์ชีวิตนั้น เราก็รู้ดีว่าไม่ใช่ชีวิตจริง ๆ ของผู้แสดง หรือชีวิตจริง ๆ ตามความเป็นอยู่ ถ้าใครต้องการรู้ความจริงก็ไปดูสภาพชีวิตจริง ดีกว่าไปดูภาพยนตร์ชีวิต ดังนั้นความเป็นจริงกับประสบการณ์สุนทรียะมีส่วนคล้ายคลึงกันเพียงส่วนน้อย และแตกต่างกันคนละโลกทีเดียว



เมื่อเราไปชมนิทรรศการจิตรกรรม เห็นทิวทัศน์ คลอง หรือหมู่บ้านชนบท เราดูเฉย ๆ คงไม่รู้สึกชื่นชม หรือได้รับประสบการณ์สุนทรียะแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ขณะดูเราใช้จินตนาการของเราประกอบด้วย ก็รู้สึกว่าผู้สร้างเขาระบายสีได้กลมกลืนน่าชื่นชม สำหรับความคิดที่ว่าจะต้องเป็นภูมิภาพจริง ๆ หรือไม่นั่น ไม่ควรนำมาประกอบการดูของเรา เพราะการดู หรือมองเห็นของเราที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์สุนทีรยะนั้น แนวทางหนึ่งก็คือ ควรเป็นการดูตามสีแสงและจังหวะ ที่เร้าให้เรารู้สึก หรือพิจารณาตามคุณสมบัติดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งจะต่างกับการดูธรรมดา ๆ ที่ต้องการจะรู้เรื่อง สำหรับประสบการณ์สุนทรียะ ควรเป็นการดูพร้อมกับจินตนาการไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: